วันจันทร์ที่ 17 เมษายน พ.ศ. 2560

Sci007 Jellyfish : Life Cycle

เมื่อช่วงสงกรานต์ที่ผ่านมา ครูเอก และครอบครัว ได้มีโอกาสไปเที่ยวที่ พิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำ สถาบันวิทยาศาสตร์ทางทะเล (สวทล.) ซึ่งเป็นหน่วยงานภายในมหาวิทยาลัยบูรพา ได้ทั้งความรู้และได้ระลึกความหลังในสมัยเด็ก ๆ ที่ไปบ่อย ๆ ด้วย ตอนนี้สถาบันวิทยาศาสตร์ทางทะเลมีนิทรรศการน่าสนใจมาก เรื่อง แมงกะพรุน ซึ่งครูเอกคิดว่า ถ้านักเรียนคนไหนที่เรียนเรื่องความหลากหลาย แล้วมีข้อสงสัยเกี่ยวกับวงจรชีวิตแบบสลับน่าที่จะสนใจนิทรรศการนี้แน่ ๆ

มาทบทวนกันหน่วยนะครับ แมงกะพรุน หรือกะพรุน (Jellyfish หรือ Jelly) เป็นสัตว์ชนิดหนึ่งในอาณาจักรสัตว์ (Kingdom Animalia) อยู่ในไฟลัมไนดาเรีย (Phylum Cnidaria) ครับ ซึ่งจุดเด่นของสัตว์ในไฟลัมนี้คือ เข็มพิษ (Nematocyst) ซึ่งทำให้เกิดอันตรายต่อสิ่งมีชีวิตอื่น ๆ ได้ เชื่อว่าหลาย ๆ คนคงเคยได้ยินว่ามีคนโดนแมงกะพรุนในขณะเล่นน้ำ ซึ่งอาการก็แตกต่างกันไปตามพิษที่ได้รับครับ

ครูเอกสงสัยเหมือนกันว่าแมงกะพรุนที่ว่ายน้ำตามที่เห็น มันว่ายเร็วจนมาโดนพวกเราหรือไม่



คำตอบคือไม่ครับ แต่เราว่ายไปหามันเอง  เพราะส่วนที่เข็มพิษอยู่คือหนวด (Tentacle) ซึ่งยาวมาก ๆ เลยครับ แถมยังค่อนข้างใส ดูจากรูปสิครับ ยาวกว่าตัวมันอีกแถมยังบางมาก ๆ ไม่แปบกเลยที่หลายคนคิดว่าหลบพ้น แต่ก็ยังโดนจนเกิดรอยผื่นแดงเต็มไปหมด

ภาพ หนวดแมงกะพรุน (สีที่เห็นมาจากไฟในตู้ที่เปิดไว้) 

แต่ที่ครูเอกตื่นเต้นคงเป็นวงจรชีวิตแบบสลับของแมงกะพรุนครับ ทุก ๆ ปีตอนสอนเรื่องนี้ทั้งในค่ายโอลิมปิกวิชาการ และในโรงเรียน ครูได้แต่หารูปจากที่ต่าง ๆ มาให้ดู แต่ตอนนี้ ครูเอกมีภาพถ่ายของตัวเองซึ่งได้จากที่นี่ละครับ

จากแผนภาพด้านล่าง เป็นภาพสรุปวงจรชีวิตแมงกะพรุนครับ ซึ่งเริ่มจากตัวเต็มวัยจะสร้างไข่และสเปิร์มมาผสมกันเป็นไซโกต แล้วเจริญเป็นตัวอ่อน planular ซึ่งจะลอยตามน้ำไปจนกระทั่งพบที่ยึดเกาะ ตัวอ่อนนี้จะยึดไว้ แล้วเปลี่ยนรูปร่างเป็นทรงกระบอก ซึ่งเรียกว่า scyphistoma หลังจากนั้นจะเปลี่ยนเป็น strobili ซึ่งจะมีส่วนปลายสร้างโครงสร้างคล้ายชามซ้อน ๆ กัน ซึ่งส่วนปลายนี่ละครับที่จะหลุดออกมาเป็นตัวเล็ก ๆ ที่เรียกว่า ephyra แล้วจะโตเป็นแมงกะพรุนตัวเต็มวัยต่อไป ซึ่งแมงกะพรุที่เราเห็นที่ชายฝั่งมักเป็นแมงกะพรุนที่อายุมากแล้ว ซัก 5-10 ปีครับ แต่ก่อนหน้านั้นพวกมันจะอาศัยในทะเลลึก จนกระทั้งถึงเวลาของมัน

ภาพ วงจรชีวิตของแมงกะพรุน
ที่มา nstda.or.th/rural/public/100%20articles-stkc/100.pdf

ลองมาดูภาพที่ถ่ายมาได้เปรียบเทียบกันนะครับ




ภาพ scyphistoma (ตัวขาว ๆ เล็ก ๆ มีหนวดเยอะ ๆ ครับ)


ภาพ ephyra (เทียบกับนิ้วชี้ครูเอก)


ภาพ ตัวอ่อนแมงกะพรุน (juvenile)

ขอขอบคุณสถาบันวิทยาศาสตร์ทางทะเล (สวทล.) ที่มอบความรู้ให้กับพวกเราแม้ในช่วงวันหยุดสงกรานต์ครับ และนักเรียนหรือคุณครูท่านใดสนใจ ไปดูได้เลยนะครับ ยิ่งช่วงนี้ปิดเทอม โอกาสในการไปยิ่งมาก ข้างในมีสิ่งที่น่าสนใจอีกเยอะเลย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นกับบทความ