ที่ปรึกษา กับ การวิจัยของคุณครู
วันนี้ได้ไปประชุมกรรมการคณะหนึ่ง ที่ประชุมมีข้อคิดเห็นที่น่าสนใจมาถกเถียงกันว่า "ครูควรมีที่ปรึกษา (เหมือน ๆ Advisor ในการเรียนระดับบัณฑิตศึกษา) ในการทำงานวิจัยหรือไม่"
"ครูหลายคนอยากทำงานวิจัย แต่อาจขาดภูมิรู้ จึงทำเหมือนมวยวัด ดังนั้น การมีที่ปรึกษาจะทำให้ครูนักวิจัยได้งานที่มีคุณภาพ เพราะที่ปรึกษาจะเป็นผู้ช่วยเหลือในการกลั่นกรอง ตรวจสอบความถูกต้อง" ท่านหนึ่งกล่าว
ผู้เขียนฟังแล้วก็นั่งพยักหน้าเห็นด้วย
"การวิจัยเป็นการหาความรู้ด้วยตนเองอย่างมีเหตุผล หากครูคิดพึ่งพาแต่ที่ปรึกษา จะไม่สามารถสร้างครูนักวิจัยที่สามารถวิจัยด้วยตนเองได้ ไม่ต่างกับการติวหรือเรียนพิเศษเพื่อให้ทำได้" อีกท่านหนึ่งกล่าว
ผู้เขียนฟังแล้วก็นั่งพยักหน้าเห็นด้วยเช่นกัน
หลังจากประชุมเสร็จ ผู้เขียนก็นำประเด็นนี้มาขบคิดระหว่างรอรถประจำทางกลับบ้าน จนมีความคิดส่วนตัวประการหนึ่ง
ผู้เขียนคิดว่าการวิจัยเหมือนมีด ที่ใช้ปอกเปลือกสิ่งต่าง ๆ ให้ค้นพบความจริงของสิ่งนั้น
กว่าจะได้ออกมาเป็นมีด ต้องผ่านการคัดสรร การหลอม การตี ขึ้นรูป ตลอดจนชุบเคลือบต่าง ๆ มากมาย แน่นอน มีดจะมีคุณภาพดีเพียงใดย่อมขึ้นกับคุณภาพของขั้นตอนเหล่านี้ เหมือนที่ปรึกษาที่คอยฝึกฝนและสั่งสอนเรามา
มีดแต่ละเล่ม ก็เหมาะกับการใช้งานที่ต่างกัน เหมือนเอาปังตอไปแกะสลักแทนมีดคว้านคงเป็นไปไม่ได้ ครูนักวิจัย และนักอยากวิจัยหลาย ๆ คน ก็เช่นกัน ที่มีความถนัดและเชี่ยวชาญจำเพาะเจาะจงในบางเรื่อง ย่อมต้องการที่ปรึกษาซึ่งเปรียบเสมือนมีดต่างชนิด ที่จะช่วยทำให้ความจริงชัดเจนยิ่งขึ้น รวมทั้งเมื่อใช้งานจนมีดทื่อ อาจต้องพึ่งพาที่ปรึกษาเป็นผู้กระตุกความคิดจากมุมมองของบุคคลภายนอก (คล้าย ๆ หินลับมีด)
ดังนั้น ความคิดระหว่างรอรถประจำทางของผู้เขียนจึงเห็นว่า ครูนักวิจัย เป็นผู้ค้นหาความจริงเพื่อพัฒนานักเรียนด้วยตนเอง โดยพึ่งพาที่ปรึกษาเพียงการตรวจสอบแนวคิด รวมถึงเรื่องอื่น ๆ บ้าง แต่ที่ปรึกษาไม่ใช่ตัวจริงในการทำวิจัย ครู ต้องเป็นนักวิจัยตัวจริง
ครูแต่ละคนอาจมีขีดจำกัดของการพึ่งพาแตกต่างกัน แต่สิ่งที่จะช่วยให้ครูพัฒนาทักษะการวิจัยของตนได้ คือการพึ่งพาให้น้อยลง และเรียนรู้จากสิ่งที่ผ่านมา ทั้งจุดเด่นและจุดด้อย
ซึ่งผู้ที่ทำวิจัยจะมองเห็นเองว่าตนเองพัฒนาขึ้นอย่างไร
ผู้เขียนเองมักมีความรู้สึกเมื่อได้อ่านงานตัวเองซ้ำ ๆ ว่าตอนทำก็คิดว่าดีที่สุดแล้ว แต่ตอนที่อ่าน และได้แลกเปลี่ยนกับหลาย ๆ ท่าน ทั้งเวลาทำงาน และการสนทนาส่วนตัวกลับพบวิธีที่จะพัฒนาให้ดีขึ้น
นี่ไม่ใช่ที่ปรึกษาแบบครูสอนศิษย์อีกต่อไป แต่เป็นที่ปรึกษาผ่านการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในเชิงวิชาการ
ผู้เขียนคิดว่า นี่คือการเรียนรู้
และการเรียนรู้ ไม่มีวันสิ้นสุด
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็นกับบทความ