วันจันทร์ที่ 3 เมษายน พ.ศ. 2560

Math001 CIPPA

                 การจัดกิจกรรมการเรียนการสอนตามหลักซิปปา เป็นการพัฒนารูปแบบการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนโดยยึดผู้เรียนเป็นศูนย์กลางที่ช่วยส่งเสริมพัฒนาการรอบด้านของผู้เรียนอย่างเหมาะสมทั้งด้านร่างกาย สติปัญญา สังคม และอารมณ์ โดยการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ที่ให้ผู้เรียนได้สร้างองค์ความรู้ด้วยตนเองจากการลงมือปฏิบัติจริง ตามความถนัดและความสนใจของผู้เรียน  กระตุ้นให้ผู้เรียนได้ใช้ความคิดอย่างเต็มที่  เปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้มีปฏิสัมพันธ์กับบุคคลอื่นและสิ่งแวดล้อม  การเรียนรู้กระบวนการต่าง ๆ และสามารถนำความรู้ไปประยุกต์ใช้ ซึ่งกิจกรรมดังกล่าวจะสามารถช่วยให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ได้ดีและทำให้การเรียนรู้นั้นมีความหมายต่อผู้เรียนยิ่งขึ้น  โดยผู้วิจัยได้นำหลักซิปปามาใช้ออกแบบแนวทางการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ให้สอดคล้องกับวิชาคณิตศาสตร์ดังนี้

                 C: Construction of Knowledge โดยครูกำหนดประเด็นปัญหาทางคณิตศาสตร์เพื่อกระตุ้นให้ผู้เรียนใช้ความคิดหรือลงมือทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งเพื่อสร้างความหมายและความเข้าใจให้แก่ตนเอง

                 I: Interaction โดยให้ผู้เรียนได้ปฏิสัมพันธ์กับสื่อ โสตทัศนวัสดุ และเทคโนโลยีต่าง ๆ บุคคลแวดล้อม เช่น ครู เพื่อนในห้องเรียน  และสิ่งแวดล้อมทางกายภาพต่าง ๆ ที่พบเจอในชีวิตประจำวัน

                 P: Physical Partcipationโดยครูจัดกิจกรรมเป็นรายบุคคลและรายกลุ่มที่มีลักษณะหลากหลาย เอื้ออำนวยให้ผู้เรียนได้เคลื่อนไหวส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย  เกิดความพร้อมในการเรียนรู้ มีความกระฉับกระเฉง ตื่นตัว ไวต่อการรับรู้ข้อมูลข่าวสาร และพฤติกรรมต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น
                 P: Process Learning โดยฝึกฝนและส่งเสริมให้ผู้เรียนมีทักษะ การทำงานเป็นกลุ่ม ทักษะ/กระบวนการทางคณิตศาสตร์ในด้านการแก้ปัญหา การให้เหตุผล การสื่อสาร การสื่อความหมายทางคณิตศาสตร์ และการนำเสนอ การเชื่อมโยง และความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ 
                 A: Applicationโดยให้ผู้เรียนได้ลงมือปฏิบัติกิจกรรมหรือแก้ปัญหาทางคณิตศาสตร์ที่มีสถานการณ์สอดคล้องหรือใกล้เคียงกับชีวิตประจำวัน ฝึกฝนให้ผู้เรียนได้นำเสนอ ตรวจสอบ ปรับขยายความคิดและความรู้ทางคณิตศาสตร์

                 กระบวนการจัดกิจกรรมการเรียนรู้แบบซิปปา

                 กระบวนการจัดกิจกรรมการเรียนรู้แบบซิปปา สามารถใช้วิธีการและกระบวนการที่หลากหลาย  อาจจัดเป็นแบบแผนได้หลายรูปแบบ ทั้งนี้ ทิศนา  แขมมณี(2548ข: 87–88) ได้เสนอรูปแบบหนึ่งที่ได้นำไปทดลองใช้แล้วได้ผลดี ประกอบด้วยขั้นตอนการดำเนินการ 7 ขั้นตอนสรุปได้ดังนี้

                 ขั้นที่ 1 การทบทวนความรู้ เป็นขั้นตอนการดึงดูดความรู้เดิมของผู้เรียนในเรื่องทีเรียน เพื่อช่วยให้ผู้เรียนมีความพร้อมในการเชื่อมโยงความรู้ใหม่กับความรู้เดิมของตนเอง ซึ่งผู้สอนอาจใช้วิธีการสอนหรือเทคนิคการสอนต่าง ๆ ได้อย่างหลากหลาย

                 ขั้นที่ 2 การแสวงหาความรู้ใหม่ เป็นขั้นตอนการแสวงหาความรู้ใหม่ของผู้เรียนจากแหล่งข้อมูลหรือแหล่งความรู้ต่าง ๆ  ที่ผู้สอนได้จัดเตรียมมาให้ผู้เรียนหรือให้คำแนะนำเกี่ยวกับแหล่งการเรียนรู้ข้อมูลต่าง ๆ ที่ผู้เรียนสามารถแสวงหาความรู้ด้วยตนเองได้

                 ขั้นที่ 3 การศึกษาทำความเข้าใจข้อมูล/ความรู้ใหม่และเชื่อมโยงความรู้ใหม่กับความรู้เดิม   เป็นขั้นตอนที่ผู้เรียนจะต้องศึกษา และทำความเข้าใจกับข้อมูลและความรู้ที่หามาได้  ผู้เรียนต้องสร้างความหมายของข้อมูลและประสบการณ์ใหม่ ๆ  โดยใช้กระบวนการต่าง ๆ  ด้วยตนเอง เช่น กระบวนการคิด  กระบวนการกลุ่มในการอภิปรายและสรุปความเข้าใจเกี่ยวกับข้อมูลนั้นที่มีความจำเป็นต้องอาศัยเชื่อมโยงกับความรู้เดิม

                 ขั้นที่ 4 การแลกเปลี่ยนความรู้ความเข้าใจกับกลุ่ม เป็นขั้นตอนที่ผู้เรียนอาศัยกลุ่มเป็นเครื่องมือในการตรวจสอบความรู้ความเข้าใจของตนว่าถูกต้องหรือไม่ รวมทั้งเป็นการขยายความรู้ความเข้าใจของตนเองให้กว้างขึ้น  ซึ่งจะช่วยให้ผู้เรียนได้แบ่งปันความรู้ความเข้าใจของตนแก่ผู้อื่น รวมทั้งการได้รับประโยชน์จากความรู้  ความเข้าใจของผู้อื่นไปพร้อม ๆ  กัน

                 ขั้นที่ 5 การสรุปจัดระเบียบความรู้และวิเคราะห์กระบวนการเรียนรู้ เป็นขั้นตอนการสรุปความรู้ที่ได้รับทั้งหมดของผู้เรียนทั้งความรู้เดิมและความรู้ใหม่  และจัดสิ่งที่เรียนให้เป็นระบบระเบียบ  เพื่อช่วยให้ผู้เรียนได้จดจำสิ่งที่เรียนรู้ได้ง่ายขึ้น  รวมทั้งการวิเคราะห์กระบวนการเรียนรู้ทั้งหลายที่เกิดขึ้น

                 ขั้นที่ 6 การปฏิบัติหรือการแสดงผลงาน เป็นขั้นตอนที่ผู้เรียนได้มีโอกาสแสดงผลงาน  การสร้างความรู้ของตนให้กับผู้อื่นได้รับรู้ และเป็นการช่วยตอกย้ำหรือตรวจสอบความเข้าใจของตนเองและช่วยส่งเสริมให้ผู้เรียนใช้ความคิดริเริ่มสร้างสรรค์แต่หากต้องมีการปฏิบัติตามข้อความรู้ที่ได้ ขั้นนี้จะเป็นขั้นปฏิบัติและมีการแสดงผลงานที่ได้ปฏิบัติด้วย

                 ขั้นที่ 7 การประยุกต์ใช้ความรู้ เป็นขั้นตอนที่ส่งเสริมให้ผู้เรียนได้ฝึกฝนการนำความรู้ความเข้าใจของตนไปใช้ในสถานการณ์ต่าง ๆ ที่หลากหลายเพื่อเพิ่มความชำนาญ  ความเข้าใจและความสามารถในการแก้ปัญหา 

                 ขั้นตอนที่ 1-6 เป็นกระบวนการของการสร้างความรู้ (construction of knowledge) ซึ่งครูสามารถจัดกิจกรรมให้ผู้เรียนมีโอกาสปฏิสัมพันธ์แลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน (interaction) และฝึกฝนทักษะกระบวนการต่าง ๆ (process learning) อย่างต่อเนื่องเนื่องจากขั้นตอนแต่ละขั้นตอนช่วยให้ผู้เรียนได้เคลื่อนไหวทำกิจกรรมหลากหลาย มีส่วนร่วมทางกาย(physical  partcipation) จึงนับได้ว่าเป็นกิจกรรมที่ช่วยให้ผู้เรียนเกิดการตื่นตัว (active) ทั้งทางกาย ทางสติปัญญา ทางอารมณ์ และทางสังคม อันจะส่งผลให้ผู้เรียนสามารถรับรู้และเรียนรู้ได้ดี จึงกล่าวได้ว่าขั้นตอนทั้ง 6 ขั้น มีคุณสมบัติตามหลักการ CIPP  ส่วนขั้นตอนที่ 7 เป็นขั้นตอนที่ช่วยให้ผู้เรียนนำความรู้ไปใช้ (Application) จึงทำให้รูปแบบนี้มีคุณสมบัติครบตามหลัก CIPPA

                 จะเห็นว่า กระบวนการจัดกิจกรรมการเรียนรู้แบบซิปปา ดังกล่าวแม้จะสามารถช่วยอำนวยความสะดวกแก่ครูในการสอน เนื่องจากมีกระบวนการหรือขั้นตอนที่ชัดเจน แต่ครูไม่สามารถใช้ในการสอนได้ทุกเรื่องและตลอดเวลาเนื่องจากข้อจำกัดต่าง ๆ ในการสอนเช่น เวลา เนื้อหา แหล่งข้อมูล และถึงแม้ว่าครูจะสามารถใช้ในการสอนทุก ๆ เรื่องที่รับผิดชอบก็ไม่สมควรทำเนื่องจากผู้เรียนอาจเกิดความเบื่อหน่ายได้ ครูจำเป็นต้องใช้รูปแบบ วิธีการ และเทคนิคการสอนที่หลากหลายเพื่อช่วยดึงดูดความสนใจของผู้เรียน ดังนั้นการใช้รูปแบบซิปปาในการสอนโดยครูวางกระบวนการหรือขั้นตอนการเรียนรู้รวมทั้งใช้เทคนิค วิธีการที่หลากหลายที่เหมาะกับเนื้อหาสาระที่สอน จะช่วยให้การจัดการเรียนการสอนของครูมีความหลากหลายมากขึ้น 

                 ในขั้นตอนการจัดกิจกรรมผู้เรียนกับผู้สอน จะมีผลต่อการดำเนินการจัดกิจกรรมตามแบบซิปปา เป็นอย่างมาก เพราะผู้สอนจะต้องทำหน้าที่เป็นผู้กระตุ้นให้ผู้เรียนเกิดทักษะ/กระบวนการต่าง ๆ ในขณะทำกิจกรรม และผู้เรียนจะต้องให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี (กุณฑรี  เพ็ชรทวีพรเดช และคณะ, 2550: 56)  โดยที่การจัดกิจกรรมการเรียนการสอนแบบซิปปา มีลักษณะเหมือนกับการจัดการเรียนการสอนแบบอื่น ๆ ซึ่งสามารถสรุปได้ดังนี้

                 1. ขั้นเตรียมการจัดกิจกรรมการเรียนการสอน เป็นขั้นตอนที่ผู้สอนควรศึกษาและวิเคราะห์มาตรฐานการเรียนรู้ เรื่องที่จะสอนในหลักสูตร ประเด็นที่สำคัญที่จะมาจัดกิจกรรม นอกจากนั้นผู้สอนจะต้องศึกษาแหล่งความรู้ที่หลากหลายที่พร้อมจะอำนวยความสะดวกให้กับผู้เรียน

                 2. ขั้นวางแผนการจัดกิจกรรมการเรียนการสอน เป็นขั้นตอนที่ผู้สอนวิเคราะห์เนื้อหา  กำหนดจุดประสงค์การเรียนรู้ ความคิดรวบยอด ออกแบบกิจกรรมการเรียนการสอนผู้เรียนเป็นศูนย์กลางตามหลักการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนตามหลักซิปปา และกำหนดวิธีการวัดและการประเมินการเรียนรู้ของผู้เรียน

                 3. ขั้นตอนการจัดกิจกรรมการเรียนการสอน เป็นขั้นตอนที่ผู้สอนดำเนินการตามที่วางแผนการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนตามหลักซิปปาไว้

                 บทบาทของผู้สอนจะทำหน้าที่ สร้างบรรยากาศในการเรียนรู้ กระตุ้นให้ผู้เรียนสนใจในการทำกิจกรรม ดูแล อำนวยความสะดวกให้แก่ผู้เรียน ให้คำปรึกษา แนะนำ บันทึกปัญหาและข้อขัดแย้งต่าง ๆ  ที่เกิดขึ้นในขณะทำกิจกรรม เพื่อใช้ในการพัฒนาการเรียนการสอนในครั้งต่อไป

                 บทบาทของผู้เรียนจะทำหน้าที่เข้าร่วมกิจกรรมด้วยความกระตือรือร้น ให้ความร่วมมือและรับผิดชอบในการดำเนินกิจกรรม  เช่น การแสวงหาข้อมูล การศึกษา สืบค้นข้อมูล และการสรุป รับฟังความคิดเห็นของผู้อื่น มีปฏิสัมพันธ์ โต้ตอบ คัดค้าน สนับสนุน แลกเปลี่ยนความคิดเห็นและความรู้สึกของตนเองและผู้อื่น สามารถตัดสินใจและแก้ปัญหาต่าง ๆ ได้

                 จากที่กล่าวมาข้างต้นประกอบกับข้อสรุปที่ได้จากการศึกษาวิเคราะห์ข้อมูลต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับแนวทางการจัดการเรียนรู้คณิตศาสตร์ จะเห็นได้ว่าซิปปา เป็นหลักการที่สามารถนำไปใช้เป็นหลักในการจัดการเรียนรู้ต่าง ๆ  ให้แก่ผู้เรียนได้อย่างหลากหลาย  มีวัตถุประสงค์เพื่อมุ่งพัฒนาผู้เรียนเกิดความรู้ความเข้าใจในเรื่องที่เรียนอย่างแท้จริง โดยการให้ผู้เรียนสร้างความรู้ด้วยตนเองโดยอาศัยความร่วมมือจากกลุ่มและพัฒนาทักษะกระบวนการต่าง ๆ ทั้งนี้กระบวนการจัดการเรียนรู้ที่เกิดขึ้นจากการประยุกต์ใช้หลักซิปปาจะมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลเพียงใดย่อมขึ้นอยู่กับวิจารณญาณของผู้สอนในการนำหลักการนี้ไปใช้ให้เหมาะสมและสอดคล้องกับผู้เรียน เนื้อหาสาระและวัตถุประสงค์ในการสอนเป็นสำคัญโดยกระบวนการจัดการเรียนรู้แบบซิปปา นี้สามารถใช้วิธีการและกระบวนการที่หลากหลาย และอาจจัดเป็นแบบแผนได้หลายรูปแบบตามความเหมาะสมของกิจกรรมการเรียนรู้ที่แตกต่างกัน

เอกสารอ้างอิง

ทิศนา แขมมณี และคณะ.  2544วิทยาการด้านการคิด.  กรุงเทพฯ : เดอะมาสเตอร์กรุ๊ปแมนเนสเม้นส์.
กุณฑรี เพ็ชรทวีพรเดช, ธาริดา  สริยาภรณ์, สุธิยา  บังใบ, และ สุคนธ์  สินธพานนท์.  2550. สุดยอดวิธีสอนวิทยาศาสตร์นำไปสู่...การจัดการเรียนรู้ของครูยุคใหม่.  นนทบุรี: บริษัทไทยร่มกล้า จำกัด.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นกับบทความ