วันจันทร์ที่ 3 เมษายน พ.ศ. 2560

Sci006 รูปแบบการจัดการเรียนรู้โครงงานวิทยาศาสตร์ KP Model

KP Model เป็นวิธีการจัดการเรียนรู้ที่ครูเอกสิทธิ์ใช้เพื่อพัฒนานักเรียนผ่านรายวิชาโครงงานวิทยาศาสตร์ เป็นความภาคภูมิใจที่สุดอย่างหนึ่งเพราะได้นำทุกสิ่งที่ได้รับการอบรมฝึกฝนมาใช้ในการแก้ปัญหาและพัฒนาการคิดของนักเรียน 

ก่อนจะเข้าสู่เรื่อง KP Model ขอเกริ่นนำสักนิดครับ

ถ้าถามว่าเริ่มงานนี้เมื่อไร คงเป็นช่วงปี 2552-2553 ที่เพิ่งเข้าบรรจุรับราชการด้วยความอหังการ มมังการ เพราะเคยได้รางวัลด้านงานวิจัยทางด้านวิทยาศาสตร์ระดับชาติมา เลยคิดว่าตัวเองเก่ง แต่เอาเข้าจริงสอนไม่รู้เรื่อง สอนให้นักเรียนเรียนรู้ผ่านการทำโครงงานไม่ได้ 

วูบนั้นบอกตรง ๆ ว่าท้อ เคยคิดอยากจะลาออกให้รู้แล้วรู้รอด แต่ในที่สุด จากความกรุณาของครูอาวุโสที่พยายามเสนอแนะแนวทาง ที่ไหนมีอบรมก็ส่งไป รวมทั้งนักเรียนที่ให้ข้อเสนอแนะว่าครูควรสอนอย่างไร จนในที่สุดครูก็ได้นำสิ่งที่เรียนรู้ร่วมกันมาใช้ในการจัดการเรียนการสอนจนได้เป็นรูปแบบนี้ที่คิดว่าเหมาะสม 

KP Model ค่อย ๆ พัฒนามาเรื่อย ๆ จนกระทั้่งปี 2555 ได้รับรางวัลทรงคุณค่า สพฐ. เหรียญทอง ระดับประเทศ ได้รับรางวัลงานวิจัย จากการประชุมวิชาการระดับชาติ รวมทั้งได้รับโอกาสจาก ผศ.ดร.ศศิเทพ  ปิติพรเทพิน ที่ผลักดันให้นำเสนอในที่ประชุมวิชาการนานาชาติ ในปี 2558 

ขอขอบพระคุณ ผศ.ดร.ชาตรี  เกิดธรรม ที่ดูแลให้คำปรึกษามาตลอด คุณครูทองดี  แย้มสรวล และคณะครูกลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ที่ให้ความกรุณาสั่งสอน ต้องขอขอบพระคุณคณาจารย์สาขาวิจัยและประเมินผลการศึกษา โดยเฉพาะท่าน รศ.ดร.ภาวิณี  ศรีสุขวัฒนานันท์ รศ.ดร.วสันต์  ทองไทย ผศ.ดร.สุนทรา  โตบัว ที่ได้สั่งสอนทั้งความรู้และวินัยแห่งตน ตลอดจนอ่กหลาย ๆ ท่านที่ได้ให้ความกรุณา จนสามารถพัฒนาตนเองได้จนปัจจุบันนี้ครับ

ความเชื่อพื้นฐาน

          ความคิดเป็นกระบวนการทางสมองที่มีความสำคัญ ทำให้มนุษย์มีความแตกต่างจากสัตว์โลกประเภทอื่น ๆ เพราะการคิดของมนุษย์นั้นนอกจากจะเป็นเครื่องมือในการตอบสนองต่อสิ่งเร้าแล้วยังเป็นเครื่องมือในการสั่งสมองค์ความรู้ต่าง ๆ ตั้งแต่อดีตที่มีผู้คิดค้นเอาไว้และเป็นตัวกลางในการถ่ายทอดความรู้ไปสู่อนุชนรุ่นหลัง แนวคิดทฤษฎีเกี่ยวกับการคิดของมนุษย์มีการพัฒนาเรื่อยมา ดังจะเห็นได้จากแนวคิดทฤษฎีตลอดจนรูปแบบที่ถูกพัฒนาขึ้นจนเป็นที่ยอมรับกันอย่างแพร่หลาย ซึ่งมีอยู่ทั้งในแถบประเทศทางซีกโลกตะวันตก เช่น แนวคิดทฤษฎีพหุปัญญาของ Gardner การเรียนรู้โดยการค้นพบของ Brunner  เป็นต้น และในซีกโลกตะวันออกที่แนวคิดและทฤษฎีต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการคิดมีที่มาจากศาสนาที่แต่ละวัฒนธรรมนับถือ เช่น พระพุทธศาสนาที่สอนการคิดแบบโยนิโสมนสิการ เป็นต้น
แนวทางที่ใช้ดำเนินการวิจัยและทดลองที่ได้ผลดีเกี่ยวกับการพัฒนาการคิดสามารถสรุปได้เป็น 3 แนวทาง คือ  1) การสอนเพื่อให้คิด (teaching for thinking)  เป็นการสอนเนื้อหาวิชาโดยมีการเสริมหรือปรับเปลี่ยนเพื่อเพิ่มความสามารถในการคิดของเด็ก ซึ่งผู้สอนต้องสร้างบรรยากาศการเรียนรู้ที่ชักชวนให้ผู้เรียนใช้ความคิดด้วยวิธี การถกเถียงหรือโต้วาที การแก้ปัญหา การเขียนรายงาน การทดลอง การเผชิญสถานการณ์จำลอง 2) การสอนการคิด (teaching of thinking)  เป็น การสอนที่เน้นกระบวนการทางสมองที่นำมาใช้ในการคิดโดยเฉพาะ เป็นการฝึกทักษะการคิดโดยตรงลักษณะของงานที่ใช้สอนจะไม่เกี่ยวข้องกับเนื้อหาวิชาการที่เรียนในโรงเรียน ซึ่งผู้สอนจะแนะให้ผู้เรียนในทักษะการคิดพื้นฐาน และค่อย ๆ ประยุกต์กับงานที่ซับซ้อนภายใต้การดูแลของครูผู้สอน โดยการมอบหมายงานหรือให้นักเรียนคิดขึ้นเอง 3) การสอนที่เกี่ยวกับการคิด (teaching about thinking)  เป็นการสอนที่เน้นการใช้ทักษะการสอนการคิด เนื้อหาวิชามุ่งให้ผู้เรียนเข้าใจกระบวนการคิดของตนเอง เพื่อให้เกิดทักษะการคิดที่เรียกว่า Metacognition ซึ่งมีทั้งแยกออกจากการเรียนปกติ หรือผสมผสานกับการเรียนปกติ โดยมีองค์ประกอบ 3 ประการ คือ เข้าใจเรื่องหน้าที่ของสมอง ขอบเขตของความรู้ และการตรวจสอบความคิด และจากผลการวิจัยเรื่อง การวิเคราะห์อภิมานงานวิจัยเกี่ยวกับการพัฒนาการคิดสำหรับนักเรียนในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานทำให้ได้ข้อสรุปเกี่ยวกับการพัฒนาการคิดหลายประการ ซึ่งประการหนึ่งคือ การพัฒนาการคิดจะได้ผลดีที่สุดเมื่อผู้เรียนได้เรียนรู้จากประสบการณ์ตรง และเรียนรู้ผ่านสื่อที่ผู้เรียนเรียนรู้ด้วยตนเอง

          ดังนั้น ผู้ศึกษาจึงเชื่อว่า การจัดการเรียนรู้ต้องมุ่งให้ผู้เรียนได้เรียนรู้ด้วยตนเอง โดยผ่านการะบวนการที่กระตุ้นให้นักเรียนได้คิด และลงมือปฏิบัติจริง จึงพัฒนาเป็น รูปแบบการจัดการเรียนรู้โครงงานวิทยาศาสตร์ KP Model 10 ขั้น ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้

          รูปแบบการจัดการเรียนรู้โครงงานวิทยาศาสตร์ KP Model หมายถึง รูปแบบการจัดการเรียนรู้โครงงานวิทยาศาสตร์ของโรงเรียนคณะราษฎร์บำรุงปทุมธานี ซึ่งพัฒนาขึ้นโดยผู้ศึกษา ซึ่งแบ่งออกเป็นขั้นต่าง ๆ 10 ขั้น ได้แก่

          1. Know to Think (ขั้นความคิดสร้างสรรค์) เป็นขั้นที่จุดมุ่งหมายให้นักเรียนพัฒนาการคิดประเภทต่าง ๆ ผ่านกิจกรรมโดยเฉพาะความคิดสร้างสรรค์ และเข้าใจลักษณะการเรียนรู้ (Learning Style) ของตนเอง

          2. Know to Note (ขั้น Log Book) เป็นขั้นที่จุดมุ่งหมายให้นักเรียนเรียนรู้แนวทางการจดบันทึกด้วยตนเองผ่านกิจกรรมต่าง ๆ

          3. Know Problem (ขั้นเสนอหัวเรื่อง) เป็นขั้นที่จุดมุ่งหมายให้นักเรียนเรียนรู้ที่จะระบุปัญหาที่ต้องการศึกษาค้นคว้า โดยประเมินความพร้อมด้าน ความเป็นประโยชน์ ความเป็นไปได้ ความเหมาะสม ความถูกต้อง และเวลา

          4. Know to Solve (ขั้นออกแบบการทดลอง) เป็นขั้นที่จุดมุ่งหมายให้นักเรียนเรียนรู้การสำรวจตรวจสอบตามประเภทของโครงงานทั้ง 4 ประเภท ผ่านกิจกรรมโครงงานจำลอง 4 กิจกรรม

          5. Know to Refer (ขั้นลิขสิทธิ์และการอ้างอิง) เป็นขั้นที่จุดมุ่งหมายให้นักเรียนเรียนรู้จรรยาบรรณ และมารยาททางวิชาการ

          6. Practice to Exchange (ขั้นแบ่งปันประสบการณ์) เป็นขั้นที่จุดมุ่งหมายให้นักเรียนฝึกแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างนักเรียนกับนักเรียนต่างระดับชั้น และนักเรียนกับนักวิจัยมืออาชีพ

          7. Practice to Present (ขั้นเสนอโครงร่าง) เป็นขั้นที่จุดมุ่งหมายให้นักเรียนฝึกฝนการนำเสนอโครงร่างโครงงานในรูปแบบการประชุมวิชาการ

          8. Practice to Apprentice (ขั้นฝึกงาน) เป็นขั้นที่จุดมุ่งหมายให้นักเรียนได้ฝึกประสบการณ์กับนักวิจัยในมหาวิทยาลัย แล้วนำประสบการณ์ที่ได้มาใช้ปรับปรุงโครงร่างโครงงานและแนวทางในการสำรวจตรวจสอบ

          9. Practice to Do (ขั้นทำการทดลอง) เป็นขั้นที่จุดมุ่งหมายให้นักเรียนฝึกฝนการดำเนินการสำรวจตรวจสอบตามโครงร่างที่วางแผนไว้เพื่อหาคำตอบของปัญหาที่สนใจพร้อมทั้งรายงานความก้าวหน้า

          10. Practice to Share (ขั้นรายงานผลและเผยแพร่) เป็นขั้นที่จุดมุ่งหมายให้นักเรียนนำเสนอผลงานและองค์ความรู้ที่ได้จากการสำรวจตรวจสอบสู่สาธารณชน



จุดมุ่งหมายของการจัดการเรียนรู้

          การจัดการเรียนรู้ด้วยรูปแบบการจัดการเรียนรู้โครงงานวิทยาศาสตร์ KP Model มีจุดมุ่งหมายเพื่อ ให้นักเรียนเกิดความรู้ความเข้าใจ มีความคิดระดับสูง สามารถเสนอเค้าโครงโครงงานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สามารถสร้างองค์ความรู้โดยใช้กระบวนการทางวิทยาศาสตร์ สื่อสารสิ่งที่เรียนรู้มีความสามารถในการตัดสินใจ มีจิตวิทยาศาสตร์ คุณธรรม จริยธรรม และค่านิยมที่เหมาะสม

          แต่อย่างไรก็ตามการเรียนรู้ด้วยตนเองผ่านการดำเนินการทำโครงงานวิทยาศาสตร์จำเป็นต้องให้เวลาแก่นักเรียนพอสมควร ซึ่งจากหลักสูตรสถานศึกษาของผู้ศึกษา ได้แยกออกเป็น 2 รายวิชา คือ ว30290 โครงงานวิทยาศาสตร์ 1 และ ว30291 โครงงานวิทยาศาสตร์ 2 โดยแบ่งจุดมุ่งหมายดังนี้

          ว30290 โครงงานวิทยาศาสตร์ 1 มีจุดมุ่งหมายเพื่อให้เกิดความรู้ความเข้าใจ มีความคิดระดับสูง สามารถเสนอเค้าโครงโครงงานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมีจิตวิทยาศาสตร์ คุณธรรม จริยธรรม และค่านิยมที่เหมาะสม

          ว30291 โครงงานวิทยาศาสตร์ 2 เพื่อให้เกิดความรู้ความเข้าใจ มีความคิดระดับสูงในการสร้างองค์ความรู้โดยใช้กระบวนการทางวิทยาศาสตร์ สื่อสารสิ่งที่เรียนรู้มีความสามารถในการตัดสินใจ มีจิตวิทยาศาสตร์ คุณธรรม จริยธรรม และค่านิยมที่เหมาะสม

ข้อตกลงเบื้องต้นของการนำรูปแบบการจัดการเรียนรู้ โครงงานวิทยาศาสตร์ KP Model ไปใช้ในภาพรวม

ข้อตกลงสำหรับครู

          1. ครูต้องระลึกเสมอว่าการสอนโครงงานเป็นการสอนที่ไม่บอกความรู้โดยไม่จำเป็น” เว้นแต่อาจเกิดอันตรายกับนักเรียน เช่น ข้อควรระวังในห้องปฏิบัติการ เป็นต้น และต้องยอมรับในความไม่รู้ของตนเอง พร้อมที่จะเรียนรู้ไปพร้อม ๆ กับนักเรียน

          2. การประเมินทุกรายการในการจัดการเรียนรู้มุ่งเน้นให้นักเรียนนำผลไปใช้เพื่อพัฒนาตนเอง ดังนั้นต้องเปิดโอกาสและให้เวลานักเรียนในการแก้ไขผลการเรียนรู้ของตน โดยไม่ตัดสินผลจนกว่าทั้งครูและนักเรียนจะพอใจร่วมกัน เพื่อสร้างบรรยากาศที่เอื้อต่อการคิด ที่จะนำมาซึ่งความกล้าที่จะคิด และแสดงออกซึ่งความคิดอย่างสร้างสรรค์ เพราะนักเรียนแต่ละคนมีศักยภาพที่แตกต่างกัน แต่ทั้งนี้ต้องไม่เกินจากรอบเวลาที่ครูและนักเรียนได้ตกลงกันก่อนที่จะเริ่มเรียนรู้และรับการประเมิน

          3. ครูพึงระลึกไว้เสมอว่าโครงงานเรื่องแรกของนักเรียนมีความสำคัญที่สุด เพราะอาจทำให้สูญเสียบุคลากรทางด้านวิทยาศาสตร์ของประเทศไปจากการละเลย หรือขาดการใส่ใจเท่าที่ควรในการทำให้นักเรียนรู้สึกประสบความสำเร็จในการค้นคว้าและสร้างองค์ความรู้ด้วยตนเองผ่านกระบวนการสำรวจตรวจสอบ รวมทั้งครูต้องทุ่มเทเวลาในการให้คำปรึกษา และทำความเข้าใจกับผู้ปกครอง ซึ่งผู้ศึกษาได้รับประสบการณ์ในการนั่งสนทนากับผู้ปกครองด้วยความยินดีทั้งสองฝ่ายหลัง 24.00น. ที่โรงเรียนคณะราษฎร์บำรุงปทุมธานี มาแล้วเนื่องจากนักเรียนทั้งกลุ่มไม่ยอมกลับบ้านเพราะต้องการทำโครงงานที่กำลังติดพันให้แล้วเสร็จ ซึ่งผู้ปกครองพึงพอใจกับความมุ่งมั่นดังกล่าว

          4. ครูต้องหมั่นกระตุ้นให้นักเรียนสามารถเรียนรู้บนความขาดแคลน โดยพัฒนาวิธีหรืออุปกรณ์ที่มีต้นทุนต่ำมาใช้ประกอบการเรียนรู้ เช่น ขาดบิกเกอร์ ก็สามารถนำขวดน้ำมาตัดแล้วทำการเทียบโอน (Calibrate) ปริมาตรได้ เป็นต้น เพื่อฝึกการคิดแก้ปัญหาของนักเรียน

          5. รูปแบบการจัดการเรียนรู้โครงงานวิทยาศาสตร์ KP Model รูปแบบที่เน้นการพัฒนานักเรียนทุกคน ไม่ใช่รูปแบบที่มุ่งหวังรางวัลจากการประกวดแข่งขัน เนื่องจากผู้ศึกษามุ่งเพียงต้องการจัดการเรียนรู้ที่ผู้เรียนสามารถพัฒนาได้ตามศักยภาพของตนเองเท่านั้น

          6. แม้การทำโครงงานจะเป็นกลุ่ม แต่การเรียนรู้เป็นเรื่องรายบุคคล ดังนั้น ควรประเมินนักเรียนเป็นรายบุคคล ไม่ควรใช้คะแนนประเมินแบบภาพรวมให้มากนัก แต่ควรประเมินรายบุคคลให้มากที่สุดเท่าที่ภาระงานจะเอื้ออำนวย ผู้ที่นำรูปแบบไปใช้จะสามารถสังเกตพัฒนาการของนักเรียนได้อย่างชัดเจน

          7. สร้างความคุ้นเคยกับการทำงานวิจัย เนื่องจากการทำโครงงานเป็นการแสดงหาความรู้ด้วยกระบวนการต่าง ๆ ซึ่งนักเรียนดำเนินการอย่างเป็นระบบ สามารถทำซ้ำได้ ครูอาจใช้คำว่า วิจัย เพื่อให้นักเรียนรู้สึกตระหนักและภาคภูมิใจในการเรียนโครงงานวิทยาศาสตร์ของนักเรียน รวมทั้งลดความกลัวคำว่าวิจัยลง อันเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างเจตคติที่ดีจ่อการวิจัยในอนาคต โดยนักเรียนกลุ่มผู้มีความสามารถพิเศษจะมีความคุ้นเคยกับคำนี้ นอกจากนี้มีรายวิชาอื่น ๆ ที่ใช้คำนี้ เช่น รายวิชาระเบียบวิธีวิจัย เป็นต้น

ข้อตกลงสำหรับนักเรียน


          นักเรียนสามารถใช้เครื่องมือสื่อสารเพื่อการเรียนรู้ได้ แต่ต้องมีวินัยในตนเอง โดยตกลงร่วมกันในชั้นเรียนว่าจะใช้เพื่อการเรียนรู้ ไม่ได้ใช้เพื่อความบันเทิงระหว่างอยู่ในเวลาเรียน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นกับบทความ