วันจันทร์ที่ 25 เมษายน พ.ศ. 2559

Sci003 การวิเคราะห์ Learning Style ของนักเรียน

การวิเคราะห์ Learning Style ของนักเรียน

หลายท่านคงเคยเป็น

บางครั้งเมื่อต้องการสื่อสารหรืออธิบายอะไรบางอย่างให้เพื่อน ไม่ว่าจะพูดเท่าไรก็ไม่เข้าใจ หรือที่เรียกกันแบบวัยรุ่นว่า ไม่ Get แต่พอเปลี่ยนแนวทางในการอธิบายเป็นวาดรูปให้ดู หรือทำให้ดู เพื่อนสามารถเข้าใจได้ง่าย

การให้คำปรึกษานักเรียนก็เช่นกัน ต้องมีความสอดคล้องกับ Learning Style ของนักเรียน

Learning Style คือลักษณะการเรียนรู้ที่เหมาะกับนักเรียนแต่ละคน ไม่เชื่อท่านลองคิดถึงตัวท่านเองว่า สมันที่เรียนหรือกำลังเรียนอยู่ ท่านสามารถเรียนอะไรได้ดีดวยวิธีไหน แล้วลองคิดเทียบกับเพื่อนของท่าน ตัวอย่างง่าย ๆ บางคนอ่านหนังสือรอบเดียวตำได้ บางคนต้องอยู่ในที่เงียบ ๆ บางคนต้องฟังเพลงไปด้วย แค่นี้ก็เห็นแล้วว่าแต่ละคนมี Learning Style ที่ต่างกัน

จากประสบการณ์สอนหลายปี พบว่า นักเรียนมี Learning Style แตกต่างกันไป ปัญหาคือเมืองไทยเรามีนักเรียนต่อห้องจำนวนมาก จะทำอย่างไรจะเหมาะกับนักเรียนทั้งหมดได้

เคราะห์ดีที่การทำโครงงานนั้นไม่ได้ให้นักเรียนทั้งห้องทำรวมกันเป็นกลุ่มเดียว แต่กลุ่มโครงงานมักเป็นกลุ่มย่อย ๆ ซึ่งผมว่า ไม่เกิน 3 คนดีที่สุด เพราะสมาชิกกลุ่มทุกคนจะได้ทำงานต่าง ๆ อย่างทั่วถึง

ผมจะมีสมุดบันทึกทั้งของตนเองและนักเรียนเองจะมีสมุดบันทึกของนักเรียน สิ่งที่ผมต้องทำก็คือ จำแนก Learning Style ของนักเรียน แล้วบันทึกลงในสมุดของตัวเอง รวมทั้งให้นักเรียนทราบลักษณะ Learning Style ของตนเอง และบันทึกไว้ที่หน้าปกสมุดของพวกเขาด้วย ซึ่งเมื่อมองดูหน้าปกหรือสมุดบันทึกจะได้รู่ว่าควรสื่อสารอย่างไรให้เหมาะกับ Learning Style ของแต่ละคน

ปัญหาสำคัญคือ จะจำแนก Learning Style อย่างไร

ข้อนี้ผมทดลองมา 5 ปี พบว่า ใช้การจำแนก Learning Style แบบ VARK model ที่เคยได้รับการอบรมจาก สพฐ. มาดีที่สุด ซึ่งตอนนั้น สพฐ. เชิญต้นตำรับมากจากนิวซีแลนด์มาอบรมให้ครับ โดยผมจะนำเอามาเล่าให้ฟังโดยสังเขปครับ

การวิเคราะห์รูปแบบการเรียนรู้ของผู้เรียนออกเป็น 4 รูปแบบ โดยใช้คำถามเพื่อแยกลักษณะการเรียนรู้รายบุคคล ซึ่งมีความเหมาะสมต่อการให้คำปรึกษาในฐานะครูประจำวิชา หรือครูที่ปรึกษาเป็นกลุ่มย่อย โดยรูปแบบทั้ง 4 ประกอบด้วย

1 Visual ซึ่งมีลักษณะการเรียนรู้ดังนี้
-          ชอบการเรียนที่มีการใช้รูปภาพ แผนภาพ
-          ชอบการวาดภาพ หรือทำงานที่เกี่ยวกับการวาดภาพหรือการวาดผังมโนทัศน์ได้ดี
-          สามารถสร้างชิ้นงานตามแบบได้แม้ได้เห็นเพียง 1-2 ครั้งเมื่อได้
มีกลยุทธ์ในการพัฒนา คือ
-          การวาดภาพ หรือการสร้างแผนผัง
-          การช่วยจำโดยใช้รูปภาพ
-          การนึกถึงภาพหรือแผนผังแล้วจึงบรรยายออกมาเป็นความเรียง

2 Aural ซึ่งมีลักษณะการเรียนรู้ดังนี้
-          ชอบการพูดคุย อภิปราย
-          ชอบการจัดการเรียนการสอนแบบบรรยาย
-          สามารถสร้างชิ้นงานได้ด้วยการฟังบรรยายขั้นตอนต่าง
-          สามารถจดจำเนื้อเพลง และร้องเป็นเพลงได้อย่างรวดเร็ว
มีกลยุทธ์ในการพัฒนา คือ
-          เน้นการสนทนาโต้ตอบ และอภิปราย
-          ให้นักเรียนบันทึกเสียงแล้วถอดความจากสิ่งที่บันทึก
-          อ่านออกเสียงขณะอ่านหนังสือในที่ ไม่มีเสียงรบกวน

3 Read/Write ซึ่งมีลักษณะการเรียนรู้ดังนี้
-          มีทักษะในการจดบันทึกที่ดี
-          ชอบเขียนบันทึกประจำวัน หรืออาจชอบแต่งนิยาย
-          ชอบอ่านหนังสือ
มีกลยุทธ์ในการพัฒนา คือ
-          ให้นักเรียนสร้างบันทึกช่วยจำ
-          ให้นักเรียนเขียนอนุทิน หรือการเรียนรู้หลังสอน
-          ให้นักเรียนเขียนบรรยายรูปภาพ
-          ใช้การวัดผลด้วยการสอบอัตนัย
-          ให้นักเรียนเขียนรายการต่าง และเขียนอธิบายรายการเหล่านั้น

4 Kinethetic ซึ่งมีลักษณะการเรียนรู้ดังนี้
-          ชอบการลงมือทำ
-          ชอบที่จะได้จับ สัมผัส ของจริงด้วยมือของตนเอง
-          สร้างชิ้นงานจากการปฏิบัติ ลองผิดลองถูก
-          ชอบทำการทดลอง แต่มักไม่ค่อยสนใจวิธีการทดลองที่เขียนไว้
มีกลยุทธ์ในการพัฒนา คือ
-          เล่าเรื่องจากประสบการณ์จริง
-          เมื่อต้องอ่านหนังสือให้เดินหน้า ถอยหลัง ทำท่าทางประกอบและอ่านออกเสียง
-          ใช้เครื่องมือหรือสื่อที่มีขนาดใหญ่ เช่น flipchart
-          เรียนรู้ผ่านการลงมือปฏิบัติด้วยตนเอง
-          หากต้องเรียนรู้ขณะนั่งให้ใช้มือ หรือดินสอในมือช่วย

โดยนักเรียนมักจะมีลักษณะเหล่านี้ผสมกัน หากครูที่ปรึกษาหรือครูประจำวิชาเห็นว่าลักษณะใดเป็นลักษณะที่เด่นชัดให้พยายามใช้กลยุทธ์ในการพัฒนาตามรูปแบบนั้น จะทำให้นักเรียนสามารถเรียนรู้ได้อย่างรวดเร็วขึ้น เนื่องจากทุกคนย่อมมีความแตกต่างกัน

เอกสารที่นำมาให้ครั้งนี้คือแบบทดสอบที่ใช้จำแนกครับ 

Download เอกสาร

(สำรอง) Download เอกสาร

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นกับบทความ