วันอังคารที่ 26 เมษายน พ.ศ. 2559

Sci004 การวางแผน : มาวาดภาพต้นไม้กันเถอะ

เมื่อนักเรียนทำโครงงานวิทยาศาสตร์ไปได้สักพักมักประสบปัญหาประการหนึ่ง คือ โครงงานวิทยาศาสตร์ที่ตนเองคาดหวังไว้ไม่เป็นไปตามคาด เพราะหลงประเด็นบ้าง เจอปัญหาสารพัดจนทำได้แค่แก้ปัญหาเฉพาะหน้าบ้าง

แล้วครูควรทำอย่างไร

สิ่งหนึ่งที่คุณครูทุกคนสามารถทำได้เพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้นักเรียนเกิดปัญหาเหล่านี้คือ การทำความเข้าใจกับนักเรียนให้เป็นความสำคัญของการวางแผนก่อนที่จะทำโครงงาน

การวางแผนมีความสำคัญมาก เพราะ เป็นสิ่งที่ลดความสูญเปล่าในด้านต่าง ๆ ทั้งทรัพยากร แรงงาน และเวลา

ปัญหาก็คือจะสอนนักเรียนให้รู้ถึงความสำคัญของการวางแผนโดยไม่บอกตรง ๆ ได้อย่างไร

วันนี้จึงมีกิจกรรมมาเสนอกัลยาณมิตรทุกท่านครับ กิจกรรมนี้ชื่อกิจกรรมต้นไม้ หลายท่านอาจเคยใช้กิจกรรมนี้แล้ว หลายท่านอาจยังไม่เคยใช้

กิจกรรมต้นไม้มักเป็นกิจกรรมแรกที่ผมใช้จัดการเรียนการสอนนักเรียนในรายวิชาโครงงาน และโดยมากมักให้นักเรียนทำในหน้าแรกของสมุดบันทึกที่เรียกกันว่า Log Book เสียด้วย เชื่อเถอะว่าจะกลายเป็นรอยยิ้มในชั่วโมงแรก

กิจกรรมนี้มีกติกาง่าย ๆ คือนักเรียนวาดรูปตามคำบอก คำบอกละ 1 นาที แต่ห้ามลบขูดขีดฆ่าสิ่งที่วาด แล้วมานำเสนอหน้าห้อง

เมื่อสิ้นสุดการนำเสนอครูสรุปกิจกรรมร่วมกับนักเรียนจนได้ใจความสำคัญว่า “การทำอะไรก็ตามหากวางแผนอย่างรอบคอบแม้ว่าจะเจออุปสรรคก็ไม่ทำให้งานต้องหยุดชะงัก แต่หากไม่วางแผนให้ดี เมื่อเจออุปสรรคจะทำให้ตัวผู้ทำโครงงานไม่รู้ว่าจะต้องทำอย่างไรต่อ จนอาจทำให้เกิดผลกระทบต่องานได้ เหมือนกับต้นไม้ต้นนี้ แต่หากนักเรียนฟังครบทุกคำสั่งแล้ววางแผนในการวาดหลังจากเก็บข้อมูลแล้วจะทำให้นักเรียนสามารถวาดต้นไม้ที่สมบูรณ์ได้อย่างง่ายดาย ต่างกับตอนเริ่มกิจกรรม การทำโครงงานก็เช่นกัน”

สิ่งที่เป็นผลพลอยได้มาโดยไม่ตั้งใจ คือ นักเรียนหวงสมุดของตัวเอง โดยเฉพาะช่วงแรก ๆ ของการทำแทบไม่อยากให้ใครดู แต่เมื่อหลายคนจบการศึกษาและย้อนกลับมาดูต้นไม้ มักคิดถึงสิ่งที่ตนเรียนรู้เสมอว่า “ทำทุกอย่างวางแผนเสียก่อน”


เอกสารที่นำมาให้วันนี้เป็นแผนการสอนที่นำมาใช้โดยแทรกกิจกรรมมาวาดภาพต้นไม้และ powerpoint ประกอบครับ

download เอกสาร

(สำรอง) download เอกสาร

วันจันทร์ที่ 25 เมษายน พ.ศ. 2559

Sci003 การวิเคราะห์ Learning Style ของนักเรียน

การวิเคราะห์ Learning Style ของนักเรียน

หลายท่านคงเคยเป็น

บางครั้งเมื่อต้องการสื่อสารหรืออธิบายอะไรบางอย่างให้เพื่อน ไม่ว่าจะพูดเท่าไรก็ไม่เข้าใจ หรือที่เรียกกันแบบวัยรุ่นว่า ไม่ Get แต่พอเปลี่ยนแนวทางในการอธิบายเป็นวาดรูปให้ดู หรือทำให้ดู เพื่อนสามารถเข้าใจได้ง่าย

การให้คำปรึกษานักเรียนก็เช่นกัน ต้องมีความสอดคล้องกับ Learning Style ของนักเรียน

Learning Style คือลักษณะการเรียนรู้ที่เหมาะกับนักเรียนแต่ละคน ไม่เชื่อท่านลองคิดถึงตัวท่านเองว่า สมันที่เรียนหรือกำลังเรียนอยู่ ท่านสามารถเรียนอะไรได้ดีดวยวิธีไหน แล้วลองคิดเทียบกับเพื่อนของท่าน ตัวอย่างง่าย ๆ บางคนอ่านหนังสือรอบเดียวตำได้ บางคนต้องอยู่ในที่เงียบ ๆ บางคนต้องฟังเพลงไปด้วย แค่นี้ก็เห็นแล้วว่าแต่ละคนมี Learning Style ที่ต่างกัน

จากประสบการณ์สอนหลายปี พบว่า นักเรียนมี Learning Style แตกต่างกันไป ปัญหาคือเมืองไทยเรามีนักเรียนต่อห้องจำนวนมาก จะทำอย่างไรจะเหมาะกับนักเรียนทั้งหมดได้

เคราะห์ดีที่การทำโครงงานนั้นไม่ได้ให้นักเรียนทั้งห้องทำรวมกันเป็นกลุ่มเดียว แต่กลุ่มโครงงานมักเป็นกลุ่มย่อย ๆ ซึ่งผมว่า ไม่เกิน 3 คนดีที่สุด เพราะสมาชิกกลุ่มทุกคนจะได้ทำงานต่าง ๆ อย่างทั่วถึง

ผมจะมีสมุดบันทึกทั้งของตนเองและนักเรียนเองจะมีสมุดบันทึกของนักเรียน สิ่งที่ผมต้องทำก็คือ จำแนก Learning Style ของนักเรียน แล้วบันทึกลงในสมุดของตัวเอง รวมทั้งให้นักเรียนทราบลักษณะ Learning Style ของตนเอง และบันทึกไว้ที่หน้าปกสมุดของพวกเขาด้วย ซึ่งเมื่อมองดูหน้าปกหรือสมุดบันทึกจะได้รู่ว่าควรสื่อสารอย่างไรให้เหมาะกับ Learning Style ของแต่ละคน

ปัญหาสำคัญคือ จะจำแนก Learning Style อย่างไร

ข้อนี้ผมทดลองมา 5 ปี พบว่า ใช้การจำแนก Learning Style แบบ VARK model ที่เคยได้รับการอบรมจาก สพฐ. มาดีที่สุด ซึ่งตอนนั้น สพฐ. เชิญต้นตำรับมากจากนิวซีแลนด์มาอบรมให้ครับ โดยผมจะนำเอามาเล่าให้ฟังโดยสังเขปครับ

การวิเคราะห์รูปแบบการเรียนรู้ของผู้เรียนออกเป็น 4 รูปแบบ โดยใช้คำถามเพื่อแยกลักษณะการเรียนรู้รายบุคคล ซึ่งมีความเหมาะสมต่อการให้คำปรึกษาในฐานะครูประจำวิชา หรือครูที่ปรึกษาเป็นกลุ่มย่อย โดยรูปแบบทั้ง 4 ประกอบด้วย

1 Visual ซึ่งมีลักษณะการเรียนรู้ดังนี้
-          ชอบการเรียนที่มีการใช้รูปภาพ แผนภาพ
-          ชอบการวาดภาพ หรือทำงานที่เกี่ยวกับการวาดภาพหรือการวาดผังมโนทัศน์ได้ดี
-          สามารถสร้างชิ้นงานตามแบบได้แม้ได้เห็นเพียง 1-2 ครั้งเมื่อได้
มีกลยุทธ์ในการพัฒนา คือ
-          การวาดภาพ หรือการสร้างแผนผัง
-          การช่วยจำโดยใช้รูปภาพ
-          การนึกถึงภาพหรือแผนผังแล้วจึงบรรยายออกมาเป็นความเรียง

2 Aural ซึ่งมีลักษณะการเรียนรู้ดังนี้
-          ชอบการพูดคุย อภิปราย
-          ชอบการจัดการเรียนการสอนแบบบรรยาย
-          สามารถสร้างชิ้นงานได้ด้วยการฟังบรรยายขั้นตอนต่าง
-          สามารถจดจำเนื้อเพลง และร้องเป็นเพลงได้อย่างรวดเร็ว
มีกลยุทธ์ในการพัฒนา คือ
-          เน้นการสนทนาโต้ตอบ และอภิปราย
-          ให้นักเรียนบันทึกเสียงแล้วถอดความจากสิ่งที่บันทึก
-          อ่านออกเสียงขณะอ่านหนังสือในที่ ไม่มีเสียงรบกวน

3 Read/Write ซึ่งมีลักษณะการเรียนรู้ดังนี้
-          มีทักษะในการจดบันทึกที่ดี
-          ชอบเขียนบันทึกประจำวัน หรืออาจชอบแต่งนิยาย
-          ชอบอ่านหนังสือ
มีกลยุทธ์ในการพัฒนา คือ
-          ให้นักเรียนสร้างบันทึกช่วยจำ
-          ให้นักเรียนเขียนอนุทิน หรือการเรียนรู้หลังสอน
-          ให้นักเรียนเขียนบรรยายรูปภาพ
-          ใช้การวัดผลด้วยการสอบอัตนัย
-          ให้นักเรียนเขียนรายการต่าง และเขียนอธิบายรายการเหล่านั้น

4 Kinethetic ซึ่งมีลักษณะการเรียนรู้ดังนี้
-          ชอบการลงมือทำ
-          ชอบที่จะได้จับ สัมผัส ของจริงด้วยมือของตนเอง
-          สร้างชิ้นงานจากการปฏิบัติ ลองผิดลองถูก
-          ชอบทำการทดลอง แต่มักไม่ค่อยสนใจวิธีการทดลองที่เขียนไว้
มีกลยุทธ์ในการพัฒนา คือ
-          เล่าเรื่องจากประสบการณ์จริง
-          เมื่อต้องอ่านหนังสือให้เดินหน้า ถอยหลัง ทำท่าทางประกอบและอ่านออกเสียง
-          ใช้เครื่องมือหรือสื่อที่มีขนาดใหญ่ เช่น flipchart
-          เรียนรู้ผ่านการลงมือปฏิบัติด้วยตนเอง
-          หากต้องเรียนรู้ขณะนั่งให้ใช้มือ หรือดินสอในมือช่วย

โดยนักเรียนมักจะมีลักษณะเหล่านี้ผสมกัน หากครูที่ปรึกษาหรือครูประจำวิชาเห็นว่าลักษณะใดเป็นลักษณะที่เด่นชัดให้พยายามใช้กลยุทธ์ในการพัฒนาตามรูปแบบนั้น จะทำให้นักเรียนสามารถเรียนรู้ได้อย่างรวดเร็วขึ้น เนื่องจากทุกคนย่อมมีความแตกต่างกัน

เอกสารที่นำมาให้ครั้งนี้คือแบบทดสอบที่ใช้จำแนกครับ 

Download เอกสาร

(สำรอง) Download เอกสาร

Sci002 ขั้นตอนการทำโครงงานวิทยาศาสตร์

ขั้นตอนการทำโครงงานวิทยาศาสตร์

มีนักเรียนและครูจำนวนไม่น้อยที่ซักถามผมเสมอว่า

จะเริ่มต้นการทำโครงงานวิทยาศาสตร์อย่างไร

ขั้นตอนไหนที่มีความสำคัญที่สุดในการทำโครงงาน

สิ่งที่อยากเรียนแก่กัลยาณมิตรทุกท่าน คือ เริ่มเมื่อท่านอยากเข้าใจและอธิบายโลกด้วยเหตุและผล และในทุกขึ้นตอนมีความสำคัญเท่าเทียมกัน

อาจค้านกับความคิดของทุกท่านว่า กำหนดปัญหาสิสำคัญ หรือการเริ่มต้นต้องมาจากปัญหาที่จะทำโครงงาน ซึ่งผมเองก็เห็นว่าทุกทรรศนะล้วนถูกต้อง เพราะผ่านการไตร่ตรองมาแล้วอย่างมีวิจารณญาณจากความคิดของท่าน

แต่อย่างไรก็ตามจากประสบการณ์ที่ได้เห็นจากนักเรียนที่รักของผมในหลาย ๆ ปีที่ผ่านมา โครงงานที่นักเรียนให้ความภาคภูมิใจจะเป็นโครงงานที่มาจาก "ฉันทะ" ของนักเรียน

แต่อย่างไรก็ตามจากประสบการณ์ก็ไม่ได้หมายความว่า การมีฉันทะอย่างเดียวจะทำให้เกิดความสำเร็จในการทำโครงงาน เพราะสิ่งที่ทำให้สำเร็จต้องครบองค์ของอิทธิบาท 4 อยู่ดี

ดังนั้น ในเอกสารที่แนบมานี้จึงได้รวมประสบการณ์ที่ได้พบมาเสนอให้ท่านอย่างย่นย่อ พร้อมทั้ง powerpoint ประกอบในกรณีที่ท่านจะนำไปปรับใช้สอนนักเรียนครับ

download เอกสาร

(สำรอง) download เอกสาร

Sci001 วิธีการโหลดเอกสารต่าง ๆ

เรียน กัลยาณมิตรทุกท่าน

ครูเอกสิทธิ์ และ ครูกฤติยา ปิยะแสงทอง สร้าง blog นี้ขึ้นเพื่อเป็นช่องทางในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ให้กับผู้ที่สนใจ ทั้งในด้านวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ ซึ่งเป็นวิชาที่ผู้เขียนทั้งสองคนรับผิดชอบในการจัดการเรียนการสอนในช่วงหลายปีที่ผ่านมา

ภายในจะประกอบไปด้วยเนื้อหาบทความเกี่ยวกับ กิจกรรม และแผนการสอนต่าง ๆ ซึ่งเป็นไปตามหัวข้อของบทความนั้น

หากเอกสารใดเป็นสิ่งที่ผู้เขียนทั้งสองจัดทำขึ้นเองจะมี link ให้ผู้สนใจ download ได้ตามความต้องการ และสามารถนำไปใช้ได้โดยไม่ต้องสอบถามถึงลิขสิทธิ์จากเราทั้งสองคน

การ download  นั้นจะดำเนินการผ่าน link ซึ่งเชื่อมอยู่กับ adf.ly ซึ่ง ผู้ download ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใด ๆ เพื่อ download  เอกสาร เพียงแค่ต้องรอ 5 วินาที ดังภาพ แล้วจึงกดข้าม

ภาพที่ 1 เมื่อกดครั้งแรกจะพบคำว่ากรุณารอที่มุมขวาบน


ภาพที่ 2 รอประมาณ 5 วินาที 


ภาพที่ 3 เมื่อครบ 5 วินาทีให้กดตรงคำว่ากดจ้ามที่มุมขวาบนครับ


แต่หากเป็นสิ้งที่ผู้เขียนทั้งสองไม่ได้สร้างขึ้นเอง จะมี link ซึ่งไม่ได้เชื่อมต่อกับ adf.ly แต่อย่างใด

การทำเช่นนี้อาจทำให้ท่านรู้สึกขัดเคืองใจอยู่บ้าง แต่ผลจาก download ทุกครั้งจะถูกนำไปคำนวณเป็นจำนวนเงิน ซึ่ง ผู้เขียนทั้งสองตั้งใจจะนำเงินที่ได้ส่วนหนึ่งไปมอบให้แก่โรงเรียนที่ขาดแคลนหรือเป็นทุนการศึกษาให้นักเรียนที่ขาดแคลนเพื่อเพิ่มคุณภาพและโอกาสทางการศึกษาของเด็ก ๆ ต่อไป  

ดังนั้นผู้เขียนทั้งสองจึงหวังว่านอกจากได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ เราจะได้ทำบุญร่วมกันอีกทางหนึ่ง

ครูเอกสิทธิ์ และ ครูกฤติยา ปิยะแสงทอง